ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เมื่อพบซากเด็กทารกถึงกว่าพันซากบริเวณโกดังเก็บศพวัดไผ่เงิน และจากการพิสูจน์พบว่าศพดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการทำแท้ง หรือถ้าคิดตามประสาชาวบ้านก็คือ ซากศพเด็กทารกที่ยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะลืมตาดูโลกเลยด้วยซ้ำ
ข่าวคราวนี้ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกับการทำแท้ง และเริ่มมีการขุดคุ้ยเรื่องราวเกี่ยวกับการทำแท้งต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นการทำแท้งแบบผิดกฎหมายมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายผลจับกุมสถานที่ทำแท้งเถื่อนหลายแห่ง ซึ่งปรากฏว่าสถานที่ทำแท้งเถื่อนเหล่านั้น ส่วนใหญ่แทบเป็นการทำแท้งที่ไม่ได้ดำเนินการโดยแพทย์จริงๆ แต่อย่างใด สิ่งนี้นอกจากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับผู้หญิงที่มาทำแท้งอีกด้วย และแม้ข่าวนี้จะเป็นเรื่องดีในการกวาดล้างคลินิกทำแท้งเถื่อนได้จำนวนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวการพบที่น่าสลดใจในครั้งนี้ก็ไม่อาจช่วยให้ใครหลาย ๆ คนหันกลับมามองสังคมไทยในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อกอบกู้ความรู้สึกของคนในสังคมไทยกลับคืนมาในเรื่องนี้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรแก้ไขเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ? ตอนนี้เริ่มมีสิ่งหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็คือเรื่องของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ว่าด้วยการทำแท้งนั้นได้มีหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ เริ่มมีการใช้ประมวลกฎหมายตราสามดวงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในหมวดของพระอัยการทาส มาตรา 94 โดยมีสาระเป็นการแบ่งกำหนดการตั้งครรภ์ออกเป็นสองช่วง คือช่วงสามเดือนแรกที่เรียกว่า “เขตรักษาท้อง” และช่วงหลังจากสามเดือนจนครบกำหนดคลอดเรียกว่า “ทศมาส” ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้กล่าวว่า ไม่ว่าได้ตั้งครรภ์จะคลอดหรือแท้งก็ตาม ก็ให้ถือว่าเป็นการคลอดเด็กทั้งสิ้น และการคลอดเด็กนั้นก็ยังให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการที่จะทำคลอดหรือทำแท้ง ดังเหตุผลที่ปรากฎในเอกสารประกอบการประชุมระดับชาติเรื่อง “การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ : ประเด็นท้าทายการให้บริการทางด้านสาธารณสุขของรัฐ” จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ โรงแรมปรินซ์พาเลส เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ซึ่งเหตุผลทั้งสองข้อมีดังนี้คือ (1) การตั้งท้องของหญิงทุก ๆ คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ดีหรือไพร่ เป็นไทหรือเป็นทาส จะท้องได้ก็ต่อเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเท่านั้น ดังนั้นผู้ชายที่เป็นพ่อต้องรับผิดชอบ ดูแลเอาใจใส่เป็นธุระต่อการตั้งท้องของผู้หญิง ให้ผู้หญิงมี ‘ความพร้อม’ ทั้งกายและใจในการจะเป็นแม่เด็ก และ (2) ถ้าผู้ชายที่เป็นพ่อไม่สนใจดูแล ทอดทิ้งจนผู้หญิง ‘ขาดความพร้อม’ จะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ดี แล้วผู้หญิงต้องไปทำแท้ง กฎหมายถือว่าเป็นการคลอดแล้วเด็กตาย ในกรณีที่ผู้หญิงเป็น ‘เมียทาส’ ให้ปรับสถานภาพเป็น ‘เมียไท’ เลย ค่าตัวในการขายเป็นทาสทั้งหมดไม่ต้องชดใช้อีก
จากกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับผู้หญิงในการให้สิทธิเรื่องของการคลอด ซึ่งถ้ามองในมุมมองของสิทธิสตรีแล้วนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองในมุมมองของสิทธิเด็กจะพบว่ามีข้อกังขาอยู่มาก เพราะเด็กในครรภ์แทบจะไม่ได้รับการคุ้มครองเลย และนอกจากที่ตัวบทกฎหมายนี้จะมีข้อกังขาแล้ว ในยุคหนึ่งที่ต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย เรื่องของการทำแท้งดูจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึกของคนในสังคมโลกตะวันตก ประจวบกับคำสอนแทบจะทุกศาสนา ก็ยังถือว่าเรื่องของการทำแท้งนี้เป็นเรื่องของการทำบาปอย่างมาก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎหมายเรื่อยมา

Please follow and like us: